ตำรวจไซเบอร์แถลง OPERATION: UNBOX SCAM แกะกล่องพัสดุลวง รวบตัวการส่งพัสดุไม่ตรงปก หลอกเก็บเงินปลายทาง

ตำรวจไซเบอร์แถลง

OPERATION: UNBOX SCAM แกะกล่องพัสดุลวง

รวบตัวการส่งพัสดุไม่ตรงปก หลอกเก็บเงินปลายทาง

.

วันที่ 15 ธ.ค.66 เวลา 13.30 น. ณ อาคารสัมมนาและฝึกอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เมืองทองธานี)

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำโดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษาฯ และ นายวัลลภ รุจิรากร เลขานุการฯ ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นำโดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว “OPERATION:

UNBOX SCAM แกะกล่องพัสดุลวง รวบตัวการส่งพัสดุหลอกเก็บเงินปลายทาง” ตรวจค้นจับกุมตัวการ กรณีมิจฉาชีพตีเนียนส่งพัสดุหลอกเก็บเงินปลายทางโดยที่ไม่ได้สั่งซื้อ และส่งสินค้าที่ไม่ตรงปกเพื่อหลอกเก็บเงินปลายทาง

.

สืบเนื่องจาก ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center) หรือ AOC 1441 ได้รับร้องเรียนจากการประชาชนเป็นจำนวนมาก ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการเรียกเก็บเงินค่าพัสดุปลายทางโดยที่ไม่ได้สั่งซื้อ หรือ เคยสั่งซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มบนโซเชียล แต่ไม่ได้รับสินค้าตรงตามที่ได้สั่งซื้อ

.

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดเร่งสืบสวนสอบสวนกรณีดังกล่าว เนื่องจากเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเจ้าหน้าตำรวจได้วิเคราะห์ฐานข้อมูลที่ได้จากศูนย์ AOC จนทราบว่าขบวนการนี้ ได้สร้างความเสียหายรวมเกือบ 10 ล้านบาทต่อปี

.

จากการสืบสวนพบว่า ต้นทางของพัสดุดังกล่าวมีบริษัทแห่งหนึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบจัดการร้านค้าออนไลน์ โดยพบว่ามีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนโดยนายอนุศาสน์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี ได้ใช้แพลตฟอร์ม TikTok จำนวน 4 บัญชีในการขายสินค้า มีการส่งพัสดุในรอบ 1 เดือน ประมาณ 8,000 ชิ้น และมีพัสดุตีกลับประมาณ 47 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังมียอดระงับการเก็บเงินปลายทางกว่า 8 แสนบาท นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังพบว่าเฟซบุ๊กส่วนตัวของนายอนุศาสน์ ยังได้โพสต์รูปกล่องพัสดุพร้อมส่งเป็นจำนวนมากอยู่หลายครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐาน จนสามารถขออำนาจศาลศาลออกหมายค้นเป้าหมายได้

.

กระทั่งช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ธ.ค.66 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สนธิกำลังร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นำหมายค้นศาลแขวงสมุทรปราการที่ 41/2566 ลงวันที่ 13 ธ.ค. 2566 เข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ ม.9 ต.บางเมืองใหม่ อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ พบนายอนุศาสน์ ฯ เป็นผู้ดูแลบ้าน โดยภายในบ้านพบสินค้าจำนวนมาก โดยทั้งหมดถูกนำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งพบว่าไม่มีฉลากการค้าและไม่มีสัญลักษณ์ มอก. แต่อย่างใด

.

เจ้าหน้าที่จึงได้ควบคุมตัวนายอนุศาสน์ พร้อมตรวจยึดโทรศัพท์มือถือจำนวน 6 เครื่อง โน๊ตบุ๊คจำนวน 1 เครื่อง และสินค้าที่ใช้บรรจุพัสดุสำหรับหลอกเก็บเงินปลายทาง ได้แก่ ครีมบำรุงผิว ไม่มียี่ห้อ จำนวน 42 ขวด เคราตินบำรุงผม จำนวน 24 กระปุก รองเท้า จำนวน 60 คู่ กระดาษชำระ 1 แพ็ค จำนวน 5 ห่อ แก้วน้ำเก็บความเย็นจำนวน 1 ชิ้น

.

จากนั้นได้นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางดังกล่าวส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี ในความผิดฐาน “ฉ้อโกงโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ”

.

#ตำรวจไซเบอร์ #สอท #หลอกเก็บเงินปลายทาง #สินค้าไม่ตรงปก

#ตำรวจไซเบอร์  #CCIB